Skip to content

ต่อมไทรอยด์ และกลุ่มโรคที่อาจเกิดขึ้น

ต่อมไทรอยด์(Thyroid gland)

เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม ลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่อย่างไร

ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นส่งไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งจะอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง(Pituitary gland)และต่อมไฮโปธาลามัส(Hypothalamus) โดยร่างกายจะมีระบบการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างดี เพื่อรักษาระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา

ไทรอยด์ฮอร์โมนมีความสำคัญในการกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายทำงาน  โดยเฉพาะหัวใจและสมอง นอกจากนี้ยังควบคุมระบบการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ  ระดับไขมันในเลือด ระบบย่อยอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่มีผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง ผม เล็บ ด้วย ดังนั้นหากมีความผิดปกติของไทรอยด์ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติตามมา

โรคของต่อมไทรอยด์

1. กลุ่มโรคต่อมไทรอยด์โตแบบเป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)

แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ชนิดโตทั่วไป(Graves’disease), ไทรอยด์เป็นพิษชนิดก้อนตะปุ่มตะป่ำ(Toxic multinodular), ไทรอยด์เป็นพิษชนิดก้อนเดี่ยว (Toxic nodule)

ปัจจุบันเชื่อว่า ร่างกายมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างสารแอนติบอดีต่อตนเอง ซึ่งสารนี้ก็ไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น ก็จะสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น  ผู้ป่วยจึงมีระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายทำงานมากขึ้นและเร็วขึ้น กระบวนการเมตาบอลิสมสูงขึ้น

อาการ

ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 3ชนิดนี้จะมีอาการเหมือนกันคือ  เหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อออกเยอะ ประจำเดือนน้อยลง ผิวหนังเป็นปื้นหน้าขรุขระ บางรายตาโปน บางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง

การรักษา

    • การกินยาต้านไทรอยด์ ยามี 2 ประเภทคือ โพรพิลไทโอยูราซิล (PTU : propylthiouracil), เมทิมาโซล(MMI: methimazole) ซึ่งออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน  การรักษาด้วยยานี้ต้องระวังผลข้างเคียงของยาได้แก่ ไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ ผื่น ตับอักเสบได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • การกลืนน้ำแร่ไอโอดีน แร่ไอโอดีนจะไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมเพราะผลข้างเคียงน้อยและไม่ยุ่งยาก และได้ผลเร็ว
    • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ นิยมผ่าตัดในผู้ป่วยที่คอโตมากๆ หรือมีอาการกลืนลำบากหรือหายใจลำบากร่วมด้วย เป็นวิธีที่ได้ผลเร็วที่สุด ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้คือเสียงแหบ หรือระดับแคลเซียมต่ำจากการที่ต่อมพาราไทรอยด์ถูกตัดออกด้วย ซึ่งหากศัลยแพทย์มีความชำนาญ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ต่อมไทรอยด์

2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)

คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดมีค่าต่ำกว่าปกติ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากได้รับการรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีนหรือการผ่าตัดที่ต่อมไทรอยด์มาก่อน (Primary hypothyroidism)ส่วนสาเหตุส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง(Secondary hypothyroidism)

อาการ

เป็นอาการของการมีภาวะเมตาบอลิสมในร่างกายที่น้อยเกิน ได้แก่ ความคิดช้า เฉื่อยชา ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว ผมร่วง ผิวแห้งหยาบ ตัวบวม หน้าบวม เป็นตะคริวบ่อย ท้องผูก อาการเหล่านี้มักค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลเสียต่อระบบหัวใจและระบบไขมันในเลือดได้

การรักษา

การรักษาโดยการรับประทานยาที่เป็นไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมักต้องรับประทานตลอดชีวิต

3. โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ(Thyroiditis)

ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ อักเสบกึ่งเฉียบพลันและอักเสบเรื้อรัง

ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน ( Subacute thyroiditis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ต่อมไทรอยด์โต คลำที่ต่อมไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ โรคนี้สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาสเตียรอยด์ ต่อมไทรอยด์จะยุบลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์  สามารถหายขาดได้ภายใน3-6 เดือน โดยต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ( Hashimoto thyroiditis) มีสาเหตุจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการคอโต กดไม่เจ็บ หรือมีประวัติคอโตแล้วยุบไปแล้วโดยไม่เคยรับการรักษามาก่อน  การวินิจฉัยทำโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือด  การรักษาด้วยการรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมนและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

4. โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ( Thyroid nodule)

คือการที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น แต่การสร้างฮอร์โมนยังปกติ มีทั้งชนิด ต่อมไทรอยด์โตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และ ต่อมไทรอยด์โตหลายก้อน (Multinodular goiter) โดยทั้งสองชนิดมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจด้วยวิธีการดูดเซลล์จากก้อนเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจึงพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ต่อมไทรอยด์

5. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์(thyroid cancer)

มีทั้งชนิดที่มีความรุนแรงน้อยซึ่งรักษาหายขาดได้และชนิดรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งชนิดหลังนี้มักมีประวัติคนในครอบครัว และเกิดในคนอายุน้อย

ให้สงสัยก้อนที่คอนั้นอาจเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ต่อเมื่อ
    • อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 60 ปี
    • ก้อนมีลักษณะแข็ง โตเร็ว มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย
    • มีอาการกลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก หรือเสียงแหบ
    • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์
    • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไต

การวินิจฉัย โดยการดูดเซลล์ที่ก้อนนั้นมาตรวจ ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งโดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

6. โรคของต่อมไทรอยด์ไม่ปรากฏอาการ

มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำงานน้อยเกินไป (Subclinical hypothyroidism) และชนิดที่ทำงานมากเกินไป (Subclinical hyperthyroidism) โดยที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น การวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งมักพบเมื่อตรวจสุขภาพประจำปี

การรักษา

ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทุกราย แต่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆไป และมีความจำเป็นต้องตรวจติดตามระดับฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ที่รับการรักษาและไม่ได้รับการรักษา

เมื่อไหร่ควรได้รับการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
    1. มีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์สูงหรือต่ำเกินไป ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น
    2. มีประวัติเคยตรวจเลือดแล้วพบความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมนมาก่อน
    3. มีประวัติได้รับการรักษาโรคไทรอยด์มาก่อน เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การกลืนแร่ไอโอดีน
    4. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์
    5. เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
    6. มีภาวะมีบุตรยาก
    7. คอพอกหรือมีก้อนที่คอ

โรคต่อมไทรอยด์

คำถามที่พบบ่อย

หากเป็นโรคไทรอยด์ สามารถมีบุตรได้หรือไม่ ?

ตอบ: กรณีเป็นโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ซึ่งผู้ป่วยรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่นั้น สามารถมีบุตรได้เมื่อระดับไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในระดับที่ปกติ เพราะยาไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์  ในบางรายอาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของยาไทรอยด์ฮอร์โมนในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เพราะทารกจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเองเมื่ออายุครรภ์ได้ 3 เดือน ดังนั้นช่วง 1-3 เดือนแรกยังต้องการไทรอยด์ฮอร์โมน จากมารดา

กรณีเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งผู้ป่วยรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ นั้น  แพทย์แนะนำให้คุมกำเนิดเนื่องจาก ยาที่รักษาสามารถผ่านรกไปสู่ลูกได้ และขณะที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษนั้นจะเกิดผลเสียกับการตั้งครรภ์ได้หลายอย่างเช่น ครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร ไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงมากขึ้น ส่วนผลต่อลูกในครรภ์เช่น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการผิดปกติ เป็นต้น แนะนำให้มีบุตรหลังจากรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษหายเรียบร้อยแล้ว โดยต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิตมีอันตรายหรือไม่ ?

ตอบ ไม่มีอันตราย หากกินตามปริมาณที่แพทย์สั่ง เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นที่ร่างกายต้องใช้เพื่อให้การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นปกติ แต่หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายสูงหรือต่ำกว่าปกติ การทำงานต่างๆของร่างกายก็จะผิดปกติในหลายๆระบบ

ต้องงดอาหารหรือระวังอาหารประเภทใดบ้างหากเป็นโรคไทรอยด์

ตอบ ไม่จำเป็นต้องงดหรือเว้นอาหารอะไร ให้รับประทานอาหารตามปกติ  และไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมใดๆ

หากมีก้อนที่คอ จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์หรือไม่

ตอบ

  • ความเสี่ยงที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์คือ เกิดในคนที่อายุน้อย(<20ปี), เพศชาย, ก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ , มีอาการกลืนลำบาก หายใจลำบาก ถ้ามีความเสี่ยงเหล่านี้ควรมาพบแพทย์
  • วิธีที่แม่นยำในการบอกว่าเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์คือ การตัดเอาก้อนนั้นออกมาตรวจหรือ การดูดเอาเซลล์ที่ก้อนนั้นมาตรวจโดยแพทย์ที่ชำนาญ

สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

ตรวจสุขภาพประจำปี

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง