Skip to content

Electrophysiology Study การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจคืออะไร

หัตถการที่มีการรุกล้ำร่างกาย ใช้ตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าและทางเดินไฟฟ้าหัวใจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ หาตำแหน่งในหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ เพื่อให้แพทย์ทราบและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดได้ และเป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นผิดปกติที่มีประสิทธิภาพสูง

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • ทราบถึงจุดกำเนิดและชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
  • เลือกวิธีการรักษาหรือยาที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
  • หากทราบถึงจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ สามารถทำการจี้รักษาต่อได้เลย
  • ผู้ป่วยบางรายที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงระดับปานกลางและมีหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควร แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่าจะมีโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าหากกระตุ้นหัวใจแล้วนำไปสู่การเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ
  • ตรวจหาสาเหตุการเกิดภาวะเป็นลมหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
  • ตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อ่อนแรง ใจสั่น หรือ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติต่าง ๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นความผิดปกติชนิดใดจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • พิจารณาตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเป็นกรณีไป

สถานที่ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชื่ยวชาญ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคเชี่ยนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดเชื้อ มีมาตรฐานคุณภาพการรักษาพยาบาลระดับสากล

การจี้รักษาคืออะไร

หลังจากที่ทราบชนิดและจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เต้นผิดปกติแล้ว ถ้าหากเป็นหัวใจเต้นผิดปกติที่รักษาได้ด้วยการจี้รักษา แพทย์จะใส่สายสวนพิเศษเข้าไปในหัวใจและวางในตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ต่อจากนั้นจะส่งคลื่นวิทยุผ่านทางสายสวนพิเศษเพื่อไปทำลายจุดกำเนิดที่ผิดปกตินั้น สามารถใช้รักษาหัวใจเต้นผิดปกติหลายชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดปกติจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนหรือระหว่างห้องบนและล่าง หัวใจห้องบนเต้นพริ้ว และหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควรและเร็วกว่าปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง

แพทย์จะฉีดยาชาที่บริเวณขาหนีบข้างเดียวหรือสองข้าง เพื่อจะใส่สายสวนพิเศษเข้าทางหลอดเลือดดำไปที่หัวใจ หลังจากที่ได้จัดวางสายสวนพิเศษในตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจ อุปกรณ์เหล่านี้จะต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรับและแปลงสัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ แพทย์จะประเมินการนำสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ

แพทย์จะกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นเพื่อชักนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพื่อทำการศึกษาและรักษาต่อไป แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจพิเศษไปยังตำแหน่งที่มีคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ และจะส่งคลื่นวิทยุไปทำลายตำแหน่งนั้น ๆ เมื่อหัตถการสำเร็จเสร็จสิ้น แพทย์จะดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยและจะกดบริเวณที่ถอดสายสวนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกเป็นเวลาประมาณ 10 – 15 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดดำ และนานประมาณ 30 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดแดง

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง