Skip to content

บาดเจ็บเข่าไม่ใช่เรื่องกระดูกอย่างเดียว

เมื่อคนเรา เกิดอุบัติเหตุที่หัวเข่า จากการเล่นกีฬา หรือจากการขับขี่ยวดยานพาหนะ โดย เฉพาะมอเตอร์ไซด์ ทั้งหมอฉุกเฉิน และผู้ป่วยก็จะ มุ่งเน้นไปที่กระดูกกลัวว่าจะมีกระดูกหักหรือเปล่า เพราะกลัวว่าถ้าหักแล้วจะเดินไม่ได้หลายเดือน แต่ เรากลับลืมนึกถึง อวัยวะอยู่สามอย่างที่อยู่ภายในข้อเข่าและมีความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่า กระดูกเลยครับ นั่นก็คือ หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อน และ เอ็นไขว้หน้า หลัง

กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นอวัยวะ ซึ่งอยู่บริเวณหน้าสัมผัสของผิวข้อครับ มีหน้าที่ผลิตน้ำในข้อ เพื่อทำให้เกิดความหล่อลื่นระหว่างผิวสัมผัสภายในข้อ ใน ช่วงที่มีเคลื่อนไหว ของหัวเข่า อีกทั้งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่จะทำให้คนเราเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมช้าลงเพราะ กระดูกอ่อนทึ่เริ่มสึกหรอป็นจุดเริ่มต้นของโรคนึ้

เวลามีการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่กระดูกอ่อนนั้น มีวิธีสังเกตุอาการดังนี้ คือ มีอาการเจ็บลึกๆ อยู่ภายในข้อเข่า ไม่สามารถกดกระตุ้นให้เจ็บมากขึ้นได้ เพราะ ว่ากระดูกอ่อนที่บาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะอยู่ลึกครับ อาจจะมีอาการเข่าบวม เป็นๆหายๆ อยู่หลายสัปดาห์หลังจากการเกิดอุบัติเหตุ งอเข่าอาจจะไม่สุดเหมือนเดิมเวลาลงน้ำหนักเดินจะเจ็บที่ข้อเข่า ในจุดเดิมซ้ำๆทุกครั้งและจะเดินไม่ค่อยถนัด เมื่อไป x ray ก็จะไม่พบห็นสิ่งผิดปกติเพราะกระดูกอ่อนที่แตกนั้น ไม่สามารถเห็นได้จากการ x ray ธรรมดาครับเพราะฉนั้น คนไข้ในกลุ่มนี้ จึงจำเป็น ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมครับ คือ การทำ MRI (Magnatic Resonance Imaging) หรือการสะแกนเข่าด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อ ที่จะสามารถบอกความรุนแรงของการบาดเจ็บ คือความลึกและความกว้างของการสึกหรอของกระดูกอ่อนและยังบอกตำแหน่งที่บาด เจ็บได้อย่างแม่นยำทำให้เราสามารถเลือกวิธีการรักษาที่ถูกวิธีให้กับผู้ป่วยได้ถูกต้อง และฟื้นตัวเร็วขึ้น

สำหรับในเรื่องของเอ็นข้อเข่า (Ligaments) ที่บาดเจ็บนั้น เราก็ต้องทราบก่อนนะครับ ว่า บริเวณข้อเข่าของมนุษย์นั้น มืเอ็นที่สำคัญอยู่ถึง สี่เส้น คือ เอ็นประคองเข่าด้านใน (Medial Collateral Ligament) และด้านนอก (Lateral Collateral Ligament) และ เอ็นไขว้หน้า และหลัง (Anterior and Posterior Cruciate Ligaments) เอ็น เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยทำให้ข้อเข่าแข็งแรงขึ้น กระชับมากขึ้นและมีกำลังมากขึ้น ตัวอย่งเช่น ถ้าเอ็นประคองเข่าด้านในฉีกขาด เวลาเรายืนเข่าของเราก็จะอ้าออก ทำให้ยืนได้ไม่นานและเดินนานไม่ได้จะมีอาการปวดตรงข้อพับเข่าด้านใน ซึ่งถ้าฉีกจนหมดเราก็จะไม่สามารถยืนยันพื้นได้ และถ้าไม่ได้รักษาอย่างไม่ทันท่วงที โดยการใส่เฝือกที่หัวเข่านานถึง สองสัปดาห์ เอ็นส่วนนี้ก็อาจจะไม่ติดทำให้ผู้ป่วยมีอาการเดินลำบากเรื้อรังได้ จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดโดยเปิดหัวเข่าเข้าไปซ่อมแซมเอ็นเท่านั้น

ส่วนเอ็นไขว้หน้าและหลังนั้น ซึ่ง มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยใน นักกีฬา ถ้ามีการฉีกขาดเราก็จะมีความรู้สึกไม่มั่นคงของเข่าเวลาเดินอาจจะมีอาการ เหมือนคนที่เข่าจะหลุด เข่าโย้ และอาจมีการทรุดตัวลงไป คนที่ต้องต้องการความคล่องตัวของหัวเข่า เช่น นักกีฬาหรือคนทำงานในวัยหนุ่มก็จะมีปัญหาได้

เอ็นสองเส้นนี้ ถ้า มีการฉีกขาดหมด จะไม่สามารถซ่อมแซมได้ เรียกได้ว่า ขาดแล้วขาดเลยจะไม่สามารถผ่าตัดเอามาต่อกันได้ จำเป็นต้องใช้เอ็นส่วนอื่นมาแทนแต่ก็โชคดีครับ ที่เทคโนโลยี่การผ่าตัดในส่วนนี้ พัฒนาไปถึงขั้นที่ว่าสมารถใช้กล้องส่องเข้าไป ผ่าตัดสร้างเสริมเอ็นตัวใหม่ได้โดยมีบาดแผลเป็นรูเล็กๆ เท่านั้นครับ
อวัยวะสุดท้ายที่อยู่ในข้อ และมีโอกาสบาดเจ็บ คือ หมอนรองกระดูก (Meniscus) ซึ่ง จะมีรูปร่างเป็นเหมือนครึ่งวงกลม รองรับแรงกระแทกอยู่ระหว่างข้อต่อเราอาจจะมีอาการปวดอยู่ที่หน้าข้อเข่า มีรอยบวม กดเจ็บจากผิวหนังเข้าไปในระยะแรกๆ แต่ถ้าปล่อยเรื้อรังก็จะเกิดปัญหา ปวดเข่าเรื้อรังได้หรือมีอาการเข่าบวม เป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับการใช้งานในกรณีที่เกิดการฉีกขาดรุนแรง และชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกหลุดออกไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อ จะทำให้ข้อเกิดการล็อดตัวและ เคลื่อนไหวไม่ได้ชั่วคราว แต่ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าอาการนี้เกิดขึ้น ระหว่างเดินข้ามถนนแล้ว แล้วอยู่กลางถนนพอดี เกิดอาการก้าวขาไม่ออก อะไรจะเกิดขึ้น

การดูแลรักษา ใน เรื่องของหมอนรองกระดูดบาดเจ็บ นั้น จะขึ้นอยู่ที่ความรุนแรง ในการบาดเจ็บถ้าเป็นน้อย อาจจะเพียงพักการใช้งานของหัวเข่า แต่ถ้าฉีกขาดมากก็จำเป็นต้องส่องกล้องเข้าไปซ่อมแซม โดยการเย็บ ยิงหมุด ซ่อมหรือตกแต่งขอบแผลของหมอนรองกระดูกให้เรียบร้อยขึ้นและคีบเอาชิ้นส่วนที่ ไปขัดลำอยู่ที่ข้อออก ก็จะทำให้ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนได้ดีเหมือนเดิมครับ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ข้อเข่าจึงไม่ใช่เรื่องของกระดูกหัก หรือ แตกแต่เพียงอย่างเดียวครับจำเป็นต้องระมัดระวังอวัยวะสามอย่างที่กล่าวมา ด้วยครับแล้วเราก็จะสามารถใช้เข่าได้นานๆ ต่อไป

ขอขอบคุณ: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง