Skip to content

บ้านหมุน มึนงง วิงเวียนศีรษะ เดินเซ

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

อาการรู้สึกหมุน (Vertigo) หรืออาการเวียนศีรษะ คือความรู้สึก “หลอน” ทางประสาทว่าได้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติของสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือของตนเองในลักษณะหมุน ทำให้ผู้นั้นไม่สามารถควบคุมการทรงตัวอยู่ได้ในลักษณะปกติ อาการรู้สึกหมุนดังกล่าวเกิดจากการเสียภาวะสมดุลของระบบการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุต่างๆมากมายหลายประการ ความรู้สึกจึงอาจแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่ บ้านหมุน มึนงง เดินเซ

การเสียการทรงตัวแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  • การเสียการทรงตัวที่ระบบทรงตัวส่วนปลายในหูชั้นใน ได้แก่ โรคต่างๆทางหู หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก โรคของหูชั้นใน การกระทบกระเทือนของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน การได้รับสารพิษหรือยาที่เป็นอันตราย ตลอดจนเนื้องอกของประสาททรงตัว ซึ่งอาจลุกลามถึงสมอง
  • การเสียการทรงตัวที่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ได้แก่ เนื้องอกประสาททรงตัวที่ลุกลามไปสู่สมอง การแพร่ของมะเร็งจากส่วนอื่นไปยังสมอง ศูนย์ทรงตัวในก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยงการชอกช้ำของก้านสมองจากการกระทบกระเทือนที่ศีรษะเป็นต้น

สาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อย

  • โรคหูน้ำหนวก (Otitis Media) หูน้ำหนวกที่เป็นอย่างเฉียบพลันอาจมีพิษของเชื้อโรคลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน (Toxic Labyrinthitis)
  • ความผิดปกติของหูชั้นกลางเนื่องจากหวัด (Eustachian Tube Dysfunction) การเป็นหวัดอาจทำให้มีเชื้อโรคลุกลามเข้าสู่หูชั้นกลางได้ หรืออาจเกิดการบวมของท่อ Eustachian
  • การได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อประสาททรงตัว (Toxic Labyrinthitis) ได้แก่ ยาปฏิชีวนะพวก อะมิโนกลัยโคไซด์ และควินีน ยาเหล่านี้อาจเป็นพิษต่อปลายประสาททรงตัวและประสาทได้ยินในหูชั้นในและมีการทำลายของปลายประสาทอาจทำให้เสียการได้ยินด้วย
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury) อาจทำให้เกิดกระโหลกศีรษะร้าวผ่านส่วนที่เป็นอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน หรือมีเลือดออกในหูชั้นในจากแรงกระเทือน หรือเกิดการตกเลือดในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการทรงตัว นอกจากนี้หรือการไอหรือจามอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดการทะลุของเยื่อที่ปิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน ทำให้เกิดแรงกระเทือนเป็นอันตรายต่อปลายประสาทในหูชั้นใน เกิดมึนงง เสียการทรงตัวได้

มันหัว มึนงง

โรคที่ทำให้เกิดการเวียนศีรษะและหูอื้อ

  • Meniere’s disease (Endolymphatic Hydrops) เป็นความผิดปรกติในหูชั้นในที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจากการคั่งของน้ำในหูชั้นใน หรือภาวะภูมิแพ้ของหูชั้นใน
  • อาการเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Positioning Vertigo) อาจเป็นหินปูนของหูชั้นในเคลื่อน หรืออาจเกี่ยวกับการไหลเวียนกระแสโลหิตไปหูชั้นในและสมองบกพร่อง สมองขาดเลือดชั่วระยะ (Vertebro Basilar Arterial Insufficiency) การรักษาแตกต่างกัน
  • การเสื่อมของสมองและศูนย์รับรู้การทรงตัว (CNS Degenerative Change)
  • การอักเสบของประสาททรงตัว (Vestibular neuronitis) กรณีนี้การได้ยินจะไม่เสีย
  • เนื้องอกของประสาททรงตัว (Vestibular schwannoma)
  • ความผิดปรกติของสมองและระบบประสาทส่วนกลางจากสาเหตุอื่น เช่น โรคทางกาย เบาหวาน ความดันไขมันสูง โรคติดเชื้อ โรคไต โรคหัวใจ และธัยรอยด์ผิดปกติ

การวินิจฉัยแยกโรค เพื่อรักษาตามสาเหตุ

1. ประวัติการเวียนศีรษะ

การซักประวัติและหาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาของอาการเวียนศีรษะเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลย เพราะการวินิจฉัยโรคร้อยละ 90 อาจทำได้ตั้งแต่การซักประวัติ ซึ่งประวัติที่ควรรู้ได้แก่ ผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นโรคหูหรือไม่ ประวัติการได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง ประวัติการได้รับยา ประวัติการเป็นโรคต่างๆ และอาการที่เป็นลักษณะเวียนหมุน มึนงง เซ หรือล้ม

2. การตรวจร่างกาย

ขณะซักประวัติ การสังเกตอาการท่าทางของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ป่วยที่มีปัญหาการไหลเวียนของกระแสโลหิตมักเป็นคนสูงอายุ การตรวจร่างกายควรครอบคลุมการตรวจหู คอ จมูกด้วย และตรวจหาความผิดปรกติของร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของอาการเวียนศีรษะ

รักษาอาการมึนหัว

การตรวจพิเศษ

  • การตรวจการได้ยินแบบพิเศษ (Bekesy)
  • การตรวจการเดินและการทรงตัว (Posturogarphy)
  • การตรวจประสาททรงตัวของหูชั้นในโดยการทำ Caloric test
  • การทำ Positioning test
  • การตรวจการเคลื่อนไหวผิดปกติของตาด้วย VNG
  • การตรวจการทำงานของก้านสมองด้วย Brainstem Electrical Response Audiometer (BERA)

สรุป

อาการรู้สึกหมุนหรืออาการเวียนศีรษะ เสียการทรงตัว เดินเซ คืออาการที่ผู้ป่วยรู้สึกคล้ายมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติของร่างกายตนเอง หรือสิ่งแวดล้อม ทำให้ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อแตก จะเป็นลม

อาการเวียนศีรษะ เกิดจากการเสียสมดุลของระบบการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะทรงตัวของหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง จนถึงประสาททรงตัวและประสาทสมองส่วนกลาง อวัยวะทรงตัวและอวัยวะรับเสียงจะอยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง โรคของระบบทรงตัวจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน หูอื้อ และมีเสียงรบกวนในหูได้

การตรวจค้นหาโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการเวียนศีรษะ เสียการทรงตัวนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีโรคทางกายหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ เช่น ความดันโลหินสูง เบาหวาน ต่อมธัยรอยด์ โรคติดเชื้อบางอย่าง โรคทางหูและทางการได้ยินโรคทางประสาทและสมอง ดังนั้นแพทย์ต้องซักประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียด ตรวจเช็คภาวะเคมีของเลือด ตรวจภาพถ่ายรีงสีปอดและส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือตรวจหู และตรวจการได้ยิน ตรวจการทรงตัวและตรวจประสาทสมอง แม้สาเหตุของอาการเวียนศีรษะส่วนใหญ่จะไม่ร้ายแรง แต่ก็มีบางสาเหตุส่วนน้อยที่อาจบั่นทอนชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้การตรวจค้นต่างๆเป็นไปได้อย่างรวดเร็วถูกต้อง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โทร.1719

เสียงในหูการทรงตัวและการได้ยิน

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง