Skip to content

มะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ประวัติทางครอบครัว : เมื่อสมาชิกเพศชายที่มีความสัมพันธ์โดยตรงในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็จะทำให้อัตราการเกิดโรคนี้ของเพศชายในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • เซลล์ในต่อมลูกหมากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาที่ผิดปกติ

 

อาการ/สัญญาณเตือน

มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะปัสสาวะลำบากและบ่อยขึ้น จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้

การตรวจ

  • การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (digital rectal examination หรือ DRE) โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (prostatic-specific antigen) ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

กรณีที่ผลการตรวจเบื้องต้น พบมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะพิจารณาตรวจหามะเร็งด้วยวิธี

  1. การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound: TRUS) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่ง ออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา
  2. MRI/Ultrasound Fusion Biopsy เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติพร้อมการทำอัลตราซาวนด์แบบ real-time ที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องสุ่มตรวจ

การรักษา

ข้อบ่งชี้ของทางเลือกในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ ตำแหน่ง ขนาด ระยะของเซลล์มะเร็ง สภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษา โดยปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัด การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง ( laparoscopic radical prostatectomy) เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ด้วยวิธีนี้ แพทย์จะสอดกล้องที่เรียกว่า laparoscope และเครื่องมือต่างๆ ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก แล้วทำการผ่าตัดผ่านจอมอนิเตอร์ ผลคือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า และผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง
  • รังสีรักษา ซึ่งมีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมาก และการฉายรังสีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง
  • การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันแพทย์ก็มีวิธีบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาให้ลดน้อยลงได้
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง